วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning)

พิพัฒน์ คุณวงค์ (เรียบเรียง)

1. ความหมายของการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน
        สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2543 อ้างถึงใน วัฒนา มังคสมัน, 2551) ได้ให้ความหมายของการสอนแบบโครงงานไว้ว่า เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เลือกและสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลุ่มลึกด้วยตนเอง โดยใช้วิธีการและแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายและสามารถนำผลการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตได้
ลัดดา ภู่เกียรติ (2544 อ้างถึงใน อังคณา ตุงคะสมิต, 2559) ได้สรุปความหมายของโครงงานไว้ว่า โครงงานเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เกิดจากความสนใจใคร่รู้ของผู้เรียนที่ต้องการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือหลาย ๆ สิ่งที่สงสัยและอยากรู้คำตอบให้ลึกซึ้งชัดเจนหรือต้องการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ ให้มากขึ้นกว่าเดิมโดยใช้ทักษะกระบวนการที่มีวิธีการศึกษาอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอนต่อเนื่อง มีการวางแผนในการศึกษาอย่างละเอียดแล้วลงมือปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้จนได้ข้อสรุปหรือผลการศึกษาหรือคำตอบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ และมีการนำเสนอเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจ  หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า โครงงานเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำวิจัยโดยเด็ก ๆ  เพราะได้ค้นหาความรู้ด้วยตนเองจากประเด็นปัญหาที่กำหนดขึ้นร่วมกันมีการตั้งสมมติฐานเพื่อไปสู่คำตอบ และนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำให้เข้าใจง่ายและเป็นระบบ
บุญเลี้ยง ทุมทอง (2548) ได้ให้ความหมายของโครงงานไว้ว่า เป็นการจัดการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่ต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองได้ปฏิบัติจริงในการศึกษา สำรวจ ทดลอง ค้นคว้า และประดิษฐ์ด้วยตนเอง โดยมีครูเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด
วัฒนา มังคสมัน (2551) ซึ่งใช้คำว่า “โครงการ” ได้สรุปความหมายของรูปแบบการสอนแบบโครงการว่า เป็นการจัดประสบการณ์ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลุ่มลึก โดยเรื่องที่เรียนและประเด็นปัญหาที่ศึกษามาจากความสนใจของตัวเด็กเอง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมุ่งให้เด็กมีประสบการณ์ตรงกับเรื่องที่ศึกษานั้น โดยการเปิดโอกาสให้เด็กได้สังเกตอย่างใกล้ชิดจากแหล่งความรู้เบื้องต้น อาจใช้ระยะเวลาที่ยาวนานอย่างเพียงพอตามความสนใจของเด็ก เพื่อที่จะให้เด็กได้ค้นพบคำตอบและคลี่คลายความสงสัยในการจัดกิจกรรมเด็กอาจประสบกับความสำเร็จและความล้มเหลวในวิธีการแสงหาความรู้ และเมื่อเขาพบคำตอบก็จะนำความรู้ที่ได้มาเสนอในรูปแบบต่าง ๆ ตามความต้องการของเด็กเอง 
ปราชญ์ รัตนานันท์ (2553) ให้ความหมายของโครงงานไว้ว่า เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะที่หลากหลายในการศึกษาค้าคว้าเรื่องราวที่ผู้เรียนมีความสนใจ เกิดปัญหาข้อสงสัยและต้องการคำตอบใหม่ ๆ มาอธิบาย ทั้งนี้กิจกรรมการเรียนรู้ต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญทุกขั้นตอน ครูเป็นผู้ที่คอยดูแลให้คำปรึกษา หรือกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้
พิมพ์พันธ์ เดชะคุปต์ และคณะ (2553) ให้ความหมายของการทำโครงงานไว้ว่า หมายถึงการศึกษาเพื่อค้นพบความรู้ใหม่ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ และวิธีการใหม่ด้วยตัวของนักเรียนเอง โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มีครูอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้คำปรึกษา ความรู้ใหม่ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ และวิธีการใหม่นั้นทั้งนักเรียนและครูไม่เคยรู้หรือมีประสบการณ์มาก่อน (Unknown by all)
        อังคณา ตุงคะสมิต (2559) ให้ความหมายของโครงงานไว้ว่า โครงงานเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากความสนใจของผู้เรียน ในการศึกษาค้าคว้าหาคำตอบโดยวิธีการที่เป็นระบบ ใช้ทักษะที่หลากหลายเพื่อให้ได้คำตอบและมีการเผยแพร่สิ่งที่ได้ค้นพบให้แก่ผู้อื่นได้รู้
ทิศนา แขมมณี (2560) ให้ความหมายของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้โครงการเป็นหลักไว้ว่า เป็นการจัดสภาพการณ์ของการเรียนการสอน โดยให้ผู้เรียนได้ร่วมกันเลือกทำโครงการที่ตนสนใจ โดยร่วมกันสำรวจ สังเกต และกำหนดเรื่องที่ตนสนใจ วางแผนในการทำโครงการร่วมกัน ศึกษาหาข้อมูลความรู้ที่จำเป็น และลงมือปฏิบัติงานตามแผนงานที่วางไว้จนได้ข้อค้นพบหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ แล้วจึงเขียนรายงานและนำเสนอต่อสาธารณชน เก็บข้อมูล แล้วนำผลงานประสบการณ์ทั้งหมดมาอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดกัน และสรุปผลการเรียนรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ที่ได้รับทั้งหมด

2. ลักษณะสำคัญของโครงงาน
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2541 อ้างถึงใน อังคณา ตุงคะสมิต, 2559) ได้กำหนดลักษณะสำคัญของโครงงานไว้ 7 ประเด็น ดังนี้
1. เป็นวิธีการเรียนรู้ที่บูรณาการหลักสูตรกับการจัดการเรียนรู้ได้อย่างกลมกลืนกัน
2. เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากความสนใจใคร่รู้คำตอบของตัวผู้เรียนเอง
3. เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ (Construct) ด้วยตนเอง
4. เป็นวิธีการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลึกซึ้งลุ่มลึกด้วยวิธีการ มีระบบ เป็นขั้นตอน และต่อเนื่อง
 5. เป็นวิธีการเรียนรู้ที่แสวงหาความรู้และสรุปความรู้ด้วยตนเอง
6. เป็นวิธีการที่นำเสนอผลการศึกษาค้าคว้าด้วยวิธีการที่เหมาะสม โดยกระบวนการและผลงานที่พบ
7. สำหรับข้อค้นพบ สิ่งที่ค้นพบสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ “เป็นการหาคำตอบข้อสงสัยโดยใช้ทักษะการเรียนรู้และปัญญาหลาย ๆ ด้าน”

3. วัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน
วัฒนา มังคสมัน (2551) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานไว้ 4 หลักการ คือเมื่อใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานแล้ว ผู้เรียนมีลักษณะสำคัญดังนี้
1. สามารถพัฒนากระบวนการคิดของตนเอง
2. สามารถลงมือปฏิบัติกิจกรรมได้ด้วยตนเอง
3. สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นกระบวนการ
4. เห็นคุณค่าในตนเอง

4. ประเภทของโครงงาน
ปราชญ์ รัตนานันท์ (2553) ได้แบ่งประเภทของโครงงานเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. โครงงานสำรวจ 
               เป็นโครงงานที่ศึกษาโดยการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ภายใต้ประเด็นหัวข้อที่ศึกษา แล้วนำความรู้ที่ได้มาทำการวิเคราะห์เพื่อให้ทราบถึงผลการศึกษา และการนำเสนอโครงงานประเภทนี้อาจนำเสนอในรูปแบบของตาราง แผนภูมิ แผนผัง หรือกราฟ 
ตัวอย่างโครงงานสำรวจ
             o โครงงานการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของภาคใต้
             o โครงงานสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนต่ออาชีพดารา เป็นต้น
        2. โครงงานศึกษา ค้นคว้า ทดลอ
           เป็นโครงงานที่ศึกษาและค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ผู้เรียนสนใจและต้องการรู้เรื่องราวรายละเอียด อย่างลึกซึ้ง อาจจะพัฒนามาจากโครงงานสำรวจแล้วต้องการศึกษาค้นคว้าหรือทดลองเพิ่มเติม
ตัวอย่างโครงงานศึกษา ค้นคว้า ทดลอง
             o โครงงานสุสานโจโฉมีจริงหรือไม่ ?
             o โครงงานสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นชาวจีนจริงหรือ ?
        3. โครงงานสิ่งประดิษฐ์
               เป็นโครงงานที่สร้างหรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ โดยนำองค์ความรู้ที่มีอยู่เป็นพื้นฐาน มาผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ที่มีและยังไม่มีใครเคยคิดประดิษฐ์มาก่อน อาจจะได้มาจากการสำรวจ ศึกษาและค้นคว้าจากทฤษฎีที่มีมาก่อน หรือพัฒนาขึ้นจากสิ่งประดิษฐ์ที่มีมาก่อน
ตัวอย่างโครงงานสิ่งประดิษฐ์
             o โครงงานสมุดภาพประวัติศาสตร์ไทยสมัยสุโขทัย
        4. โครงงานทฤษฎี
               เป็นโครงงานที่สร้างทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่สนใจ หรือเป็นการขยายแนวคิด หรือพิสูจน์ทฤษฎีเดิมเพื่อหาข้อเท็จจริง โดยทฤษฎีใหม่ที่เสนอนี้ผู้เสนอต้องมีความรู้ในทฤษฎีนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง และต้องผ่านการพิสูจน์ด้วยกฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป 
ตัวอย่างโครงงานทฤษฎี
             o โครงงานแคว้นสุวรรณภูมิคืออาณาจักรไทยใช่หรือไม่

5. ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน
อังคณา ตุงคะสมิต (2559) กล่าวถึงขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานไว้ดังนี้
(1) ก่อนดำเนินการสอน
ขั้นที่ 1 ขั้นกระตุ้นความสนใจ
        เป็นการสร้างสิ่งซึ่งเร้าให้นักเรียนเกิดความสนใจ โดยควรเริ่มจากการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนก่อน ควรสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองไม่เครียด เพื่อนักเรียนเกิดความพร้อมในการเรียนรู้ จากนั้นจับกลุ่มนักเรียนด้วยวิธีการที่ทำให้นักเรียนเกิดความสนุกสนาน มีความสุข และเกิดความสนใจในเรื่องที่จะเรียน สำหรับวิธีการจับกลุ่มสามารถกระทำได้โดยวิธีที่หลากหลาย เช่น การใช้เกม ใช้เนื้อเพลง ใช้เนื้อหาที่จะเรียน จับฉลาก เป็นต้น
ขั้นที่ 2 ขั้นกำหนดปัญหา 
        เป็นการเลือกกำหนดปัญหาที่จะศึกษา ซึ่งต้องเริ่มจากความสนใจของนักเรียน ครูพยายามให้นักเรียนได้เลือกศึกษาปัญหาที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของนักเรียน และมีแนวทางที่สามารถพิสูจน์ ทดสอบ หาคำตอบได้ ครูควรกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความกระตือรือร้นในการกำหนดปัญหาด้วยวิธีการที่หลากหลายดังนี้
     การตั้งคำถามจากเรื่องใกล้ตัว
     ใช้การสำรวจ โดยการมอบหมายให้นักเรียนไปสำรวจในท้องถิ่น
     ใช้การศึกษานอกสถานที่ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศในห้องเรียน และนักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงที่หลากหลาย
     การสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดปัญหาและความสงสัยกับตัวผู้เรียน เช่น การจัดสภาพห้องเรียน สื่อ ป้ายนิเทศ เป็นต้น
        ขั้นเลือกหรือกำหนดปัญหานี้เป็นขั้นที่ครูต้องใช้ความพยายามในการกระตุ้นนักเรียน แม้ปัญหาที่นักเรียนร่วมกันกำหนดจะมีความหลายหลาย ครูต้องพยายามตะล่อมให้นักเรียนเลือกปัญหาที่สอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้ที่วิเคราะห์ไว้
ขั้นที่ 3 ขั้นวางแผน
         เป็นขั้นที่ครูให้นักเรียนร่วมกันเขียนโครงร่างของโครงงาน โดยผู้สอนใช้การสนทนาประกอบที่แสดงขั้นตอนของโครงงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในภาพรวมของโครงงานแต่ละขั้นอย่างต่อเนื่องด้วยการเริ่มทีละขั้นตอนดังนี้
           3.1 การกำหนดปัญหา แต่ละกลุ่มเขียนปัญหาหรือความสำคัญของปัญหาให้ชัดเจนถึง 1) สาเหตุของปัญหา 2) ความสำคัญของปัญหา 3) แนวทางการแก้ไข
           3.2 การตั้งสมมติฐาน เป็นการหาแนวโน้มและคาดคะเนคำตอบไว้ล่วงหน้า เป็นการกระตุ้นนักเรียนให้ต้องการทราบถึงผลลัพธ์ที่ได้ว่าตรงกับสมมติฐานที่ตั้งไว้หรือไม่
           3.3 วางแผนการรวบรวมข้อมูล เป็นการวางแผน กำหนดหน้าที่ของสมาชิกในการศึกษาข้อมูล ความรู้ และกำหนดวิธีการศึกษาที่หลากหลายเพื่อเป็นหนทางสู่คำตอบ เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การทดลอง การค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ต การศึกษานอกสถานที่ เป็นต้น โดยนักเรียนควรเลือกตามความถนัดหรือความเหมาะสมของแหล่งความรู้
           3.4 วางแผนการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการนำข้อมูลที่ได้มาจัดเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ และทำการวิเคราะห์ โดยข้อมูลจากการวิเคราะห์อาจทำเป็นคำอธิบาย ตัวเลข ตารางเปรียบเทียบ ค่าสถิติ เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
           3.5 วางแผนการนำเสนอข้องมูล โดยครูอาจนำรูปเล่มและแผงโครงงานได้ศึกษาเป็นตัวอย่าง เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจวิธีการนำเสนอและนำเสนอได้อย่างถูกต้อง
ขั้นที่ 4 ขั้นลงมือปฏิบัติ
         เป็นขั้นที่มีความสำคัญมาก คือการดำเนินการ หรือลงมือปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ในขั้นที่ 3 ครูต้องใช้การเสริมแรงและสนับสนุนให้นักเรียนเลือกวิธีการตามที่นักเรียนต้องการ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการนำข้อมูลมาจัดหมวดหมู่ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ 
ขั้นที่ 5 ขั้นสรุปและนำเสนอ
         เป็นการให้นักเรียนสรุปข้อมูลจากการวิเคราะห์ และสังเคราะห์เป็นผลงาน นำเสนอข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูล โดยนักเรียนสามารถนำเสนอในส่วนที่เป็นกระบวนการ วิธีการ ขั้นตอนและผลลัพธ์หรือผลที่ได้จากการศึกษา ครูควรให้คำแนะนำ กระตุ้นให้เกิดการซักถามภายในชั้นเรียน และควรมีการนำเสนอผลงานต่อโรงเรียน ชุมชน เขตพื้นที่การศึกษา หรือในระดับอื่น ๆ 

(2) การเขียนรายงานโครงการ
          เป็นการนำเสนอผลงานที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าในรูปแบบของเอกสารที่เป็นรูปเล่มหรือรายงาน เพื่อให้ผู้อื่นได้รู้และเข้าใจถึงกระบวนการ หลักการ วิธีการศึกษาค้นคว้าและผลที่ได้จากการศึกษารวมทั้งข้อเสนอแนะต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการ การเขียนรายงานนั้นต้องเขียนให้ครอบคลุม เข้าใจง่าย และไม่      เยิ่นเย้อหรือซับซ้อนจนเกินไป

(3) การทำแผงโครงงาน
          แผงโครงงานเป็นการนำเสนอโครงงานอีกวิธีหนึ่งซึ่งต้องใช้ความสามารถของนักเรียนที่มีตามความแตกต่าง ร่วมมือกันดำเนินงานทั้งในด้านการออกแบบ การนำเสนอ ด้านภาษา ความกระชับของเนื้อหา การสื่อสารให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจได้ในเวลาอันรวดเร็ว การนำเสนอแผงโครงงานอาจกำหนดขนาดคร่าว ๆ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแต่ไม่จำกัดรูปแบบที่ตายตัว เพราะต้องการให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบแผงโครงงานได้อย่างเต็มที่
ขั้นที่ 6 การประเมินผล
เป็นการประเมินจากการปฏิบัติของนักเรียนสามารถประเมินได้เป็นสองส่วน คือ 1) ส่วนของนักเรียนที่ประเมินการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยดูที่คุณภาพเป็นเกณฑ์ ลักษณะและวิธีการที่ใช้ในการประเมินใช้การอภิปรายจากการทำงานและชิ้นงาน ซึ่งในส่วนนี้นักเรียนจะเป็นผู้มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นพร้อมให้ค่าคะแนนตามเกณฑ์ที่ตกลงร่วมกัน และ 2) ส่วนที่ครูประเมินการทำโครงงาน ซึ่งครูจะประเมินในด้านของเนื้อหาสาระของโครงงาน กระบวนการทำงาน การนำเสนอโครงงาน โดยใช้วิธีให้คะแนนตามเกณฑ์ที่สร้างขึ้น และควรให้ผู้เรียนรับทราบเกณฑ์ดังกล่าวด้วยเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

6. ขั้นตอนการทำโครงงาน
ลัดดา ศิลาน้อย และอังคณา ตุงคะสมิต (2556) ได้กล่าวถึงขั้นตอนในการทำโครงงานประกอบด้วย  6 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. การคิดและเลือกหัวข้อที่ต้องการศึกษา โดยมีเกณฑ์ในการเลือกหัวข้อโครงงานดังนี้
1.1 ต้องเป็นเรื่องที่ผู้ทำโครงการสนใจจริง ๆ 
1.2 พิจารณาข้อมูลประกอบให้ครอบคลุมก่อนเพียงพอหรือไม่ในการทำโครงงานนั้น ๆ
1.3 การใช้เวลาและการลงทุนต้องคุ้มค่ากับการเรียนรู้ของผู้เรียน
2. การวางแผนในการทำโครงงาน  ประกอบด้วย
2.1 การกำหนดปัญหาหรือที่มาและความสำคัญของปัญหา
2.2 การกำหนดวัตถุประสงค์ และสมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า (ถ้ามี)
2.3 การกำหนดขอบเขตของการศึกษา
2.4 การศึกษาค้นคว้าจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง
 2.5 การวางแผนวิธีดำเนินงาน ได้แก่ 1) แนวทางในการศึกษาค้นคว้า 2) วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ 3) การออกแบบการทดลองและการควบคุมตัวแปร 4) วิธีสำรวจและรวบรวมข้อมูล 5) วิธีการประดิษฐ์ 6) การวิเคราะห์ข้อมูล 7) การวางแผนปฏิบัติงาน
3. การลงมือทำโครงการ ในขั้นนี้นักเรียนเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารโครงการทั้งหมด คือ 1) การศึกษาเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ 2) การเก็บรวบรวมข้อมูล 3) การวิเคราะห์ข้อมูล 4) การสรุปข้อค้นพบ 5) การอภิปรายและเสนอแนะ  โดยครูมีบทบาทในการให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่นักเรียน
4. การบันทึกผลการปฏิบัติงาน การบันทึกเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากเพราะเป็นการทำให้ผู้อื่นทราบสิ่งที่ต้องการพิสูจน์หรืออยากรู้นั้นว่าเป็นอย่างไร โดยต้องบันทึกข้อมูลให้สอดคล้องกับโครงงานที่จัดทำ สามารถบันทึกได้หลากหลายวิธี เช่น การเขียนอธิบาย ทำตารางบันทึกผล สร้างแผนภูมิหรือกราฟ สร้างแบบจำลอง เป็นต้น
5. การเขียนรายงาน โดยมีหัวข้อในการเขียนรายงานดังนี้
5.1 ชื่อโครงงาน
5.2 ชื่อผู้จัดทำโครงงาน
5.3 ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา
5.4 บทคัดย่อ
5.5 ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
5.6 วัตถุประสงค์ของโครงงาน
5.7 สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า (ถ้ามี)
5.8 วิธีดำเนินการ
5.9 ผลการศึกษาค้นคว้า
5.10 สรุปผลของการศึกษาค้นคว้า
5.11 ข้อเสนอแนะ
5.12 เอกสารอ้างอิง
5.13 กิตติกรรมประกาศ
6. การนำเสนอโครงงาน เป็นการแสดงผลงานให้สาธารณชนได้รับรู้ สามารถนำเสนอได้หลากหลายรูปแบบ เช่น รูปเล่มรายงาน รายงานปากเปล่า จัดทำแผงโครงงาน จัดนิทรรศการ การแสดง การเล่านิทาน การนำเสนอด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (PowerPoint,  Prezi, Powtoon) เป็นต้น

7. การนำเสนอโครงงานโดยแผงโครงงาน
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (2527 อ้างถึงใน อังคณา ตุงคะสมิต, 2559) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดแผงโครงงานวิทยาศาสตร์ต้องประกอบด้วย 3 ด้าน คือด้านกลางและด้านข้าง 2 ด้าน ด้านหน้าเปิดให้ผู้ชมสามารถชมผลงานได้สะดวก แผงโครงงานทั้ง 3 ด้าน ใช้ติดแผนภาพ แผนภูมิ หรือคำอธิบายแสดงถึงรูปแบบโครงงาน ควรมีขนาดกว้าง 220 เซนติเมตร สูง 120 เซนติเมตร โดยปีกซ้ายและขวากว้างด้านละ 50 เซนติเมตร ส่วนด้านกลางกว้าง 120 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถพับเก็บได้และสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย

ภาพที่ 1 ตัวอย่างแผงโครงการ (อังคณา ตุงคะสมิต, 2559)


        ทั้งนี้เป็นเพียงแนวทางในการจัดแผงโครงงานโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ครูผู้สอนสามารถกำหนดขนาดคร่าว ๆ ได้ด้วยตนเอง เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแต่ไม่ควรจำกัดรูปแบบที่ตายตัวหรืออาจให้ผู้เรียนออกแบบขนาดของผังโครงงานได้ด้วยตนเอง เพื่อให้นักเรียนแสดงความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่

8. การนำเสนอโครงงานด้วยวาจา
พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และคณะ (2553) กล่าวถึงการนำเสนอโครงงานหรือการพูดต่อที่ชุมชนโดยการใช้ศาสตร์วาทศาสตร์ หรือวาทศิลป์ ซึ่งได้กล่าวถึงหลักการนำเสนอและบุคลิกภาพของผู้นำเสนอไว้ดังนี้
1. หลักการนำเสนอ
1.1 การวางแผน (Planning) ผู้นำเสนอจะต้อง 1) รอบรู้เรื่องที่จะนำเสนอ 2) รู้จักวิเคราะห์ผู้ฟัง 3) รู้เป้าหมายการนำเสนออย่างชัดเจน
1.2 การเตรียมการ (Preparation) 1) เลือกเนื้อหา 2) เรียงลำดับเนื้อหา 3) กำหนดเวลา 4) เสนอกิจกรรม 5) เตรียมสื่อประกอบการนำเสนอ 6) เขียนแผนการนำเสนอ ซึ่งประกอบด้วย จุดประสงค์ การกำหนดเนื้อหา ขั้นตอนนำเสนอการดำเนินการ 7) ซักซ้อมการนำเสนอ
1.3 การนำเสนอ (Presentation) 1) แนะนำตัว 2) บอกความจำเป็นที่ต้องนำเสนอ 3) บอกหัวข้อที่นำเสนอ 4) ดำเนินการนำเสนอ 3 ขั้นตอนคือ 
1. ขั้นต้นควรให้ตื่นเต้นเร้าความสนใจผู้ฟัง 5-10%
2. ขั้นเสนอควรให้กลมกลืน 80-90%
3. ขั้นสรุปควรให้จับใจ 5-10%
2. บุคลิกภาพของผู้นำเสนอ
2.1 บุคลิกภาพภายนอก
1) รูปร่างหน้าตาที่ดึงดูดผู้ฟัง
2) แต่งการสะอาด เรียบร้อย เหมาะสม
3) ความกระตือรือร้น ยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมและเต็มใจนำเสนอ
4) การใช้ท่าทางประกอบอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับคำพูด
5) การสบตา เพื่อสร้างความเป็นกันเองต่อผู้ฟัง
6) น้ำเสียงที่ชัดเจน เป็นธรรมชาติ มีชีวิตชีวา ไม่ดัดเสียง
  7) การใช้ภาษาและคำพูดที่เข้าใจง่าย กระชับ ตรงประเด็น เหมาะสมกับระดับของผู้ฟัง และควรพูดคำควบกล้ำ ร ล ให้ชัดเจน
2.2 บุคลิกภาพภายใน
1) ต้องมีความความเชื่อมั่นในตนเอง
2) ต้องมีความความกระตือรือร้น
3) ต้องมีความรอบรู้ในเนื้อหาที่จะนำเสนอ
 4) มีวิธี หรือเทคนิคในการนำเสนอ เช่น บรรยาย สาธิต ปฏิบัติกลุ่มบรรยายประกอบการซักถาม สาธิตประกอบการบรรยาย เป็นต้น
 5) มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี
 6) มีความคิดริเริ่ม ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์

9. บทบาทครูและนักเรียนในการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน
ลัดดา ศิลาน้อย และอังคณา ตุงคะสมิต (2556) ได้กล่าวถึงบทบาทครูและนักเรียนในการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานในแต่ละขั้นตอนของการทำโครงงานไว้ดังนี้ 


ขั้นตอนการทำโครงงาน
บทบาทของนักเรียน
บทบาทของครู 
1. การคิดและเลือกหัวข้อที่ต้องการศึกษา
- สัมผัสสถานการณ์ที่เป็นปัญหา
- เชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์เดิมกับสถานการณ์ใหม่
- ตระหนักถึงปัญหา
- เกิดความสนใจที่จะค้นคว้าหาคำตอบ
- จัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยให้นักเรียนสัมผัสกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหา
- การอภิปรายและสนทนากับนักเรียน
2. การวางแผนในการทำโครงงาน 
- กำหนดปัญหาและขอบเขตของปัญหา
- ตั้งวัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า
- ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- ตั้งสมมติฐาน
- ออกแบบการทดลอง และกำหนดตัวแปรต่าง ๆ
- วางแผนการทำโครงงาน
- ให้ความคิดเห็นในเรื่องความเป็นไปได้ของโครงงาน
- ชี้แนะแหล่งข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- ให้ความคิดเห็นติชมความสมเหตุสมผลของสมมติฐาน
- ให้ข้อติชมแผนการทำโครงงาน
3. การลงมือทำโครงงาน
- สร้างหรือจัดหาเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล รวมทั้งแบบทดสอบคุณภาพของเครื่องมือ
- ดำเนินการทดลองหรือรวบรวมข้อมูล
- วิเคราะห์ข้อมูลและแปลความหมาย
- จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก
- ติดตามโครงงานของนักเรียนทุกระยะ
- ให้คำปรึกษาและให้กำลังใจนักเรียน
- ให้ข้อติชมวิเคราะห์ข้อมูลและแปลความหมาย
4. การบันทึกผลการปฏิบัติงาน
- สรุปข้อค้นพบ
- ตรวจสอบความถูกต้องของข้อค้นพบโดยการทดลองซ้ำ
- อภิปรายผลและให้ข้อเสนอแนะ
- อภิปรายร่วมกับนักเรียนเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อค้นพบ

5. การเขียนรายงาน
- เขียนรายงาน
- แนะนำและให้ข้อติชมการเขียนรายงาน
6. การนำเสนอโครงงาน
- เสนอผลงานจากการศึกษาค้นคว้าในรูปแบบต่าง ๆ
- จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้แสดงผลงาน
- ส่งผลงานนักเรียนเข้าร่วมแสดงหรือประกวด
- ประเมินผลการทำงานของนักเรียน
ตารางที่ 1 บทบาทครูและนักเรียนในการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน 
(ลัดดา ศิลาน้อย และอังคณา ตุงคะสมิต, 2556)

10. การประประเมินผลการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน
บุญเลี้ยง ทุมทอง (2548) กล่าวถึงการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้โครงงาน โดยใช้การประเมินผลตามสภาพจริง ดังนี้
        1. ประเมินผลในขณะผู้เรียนแสวงหาความรู้
        2. ประเมินผลการใช้ภาษาในการถาม – ตอบของผู้เรียน ในทุกขั้นตอนของการเรียน โดยยึดหลักที่ว่า “ยิ่งพูด ยิ่งอธิบายมาก ยิ่งถามมาก ยิ่งสงสัยมากก็ยิ่งได้คะแนนมากเท่านั้น”
        3. ประเมินผลจากการทดสอบที่กำหนด 2 ช่วงคือ กลางภาค และปลายภาค

        อังคณา ตุงคะสมิต (2559) กล่าวถึงการประเมินโครงงานที่ใช้เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนสามารถประเมินได้ 2 ส่วนคือ 1) ส่วนของนักเรียนที่ปะเมินตนเอง และ 2) ส่วนที่ครูใช้ประเมินคุณภาพของโครงงาน การทำงานของนักเรียน ประเมินความก้าวหน้าในระหว่างการทำงานและเมื่อโครงงานสิ้นสุด โดยมีข้อคำนึงในการประเมิน ดังนี้
        1. ต้องให้นักเรียนเป็นผู้ประเมินหลัก
        2. อาจใช้การอภิปรายเป็นกระบวนการประเมินความก้าวหน้าของนักเรียน
        3. อาจให้นักเรียนเขียนแสดงความรู้สึกต่อผลงานของตนเองหรือที่เรียกว่า Reaction sheet

11. ประโยชน์ของการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน
ลัดดา ศิลาน้อย และอังคณา ตุงคะสมิต (2556) ได้กล่าวถึงคุณค่าของการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานต่อการเรียนรู้ของนักเรียนไว้ดังนี้
1. การเรียนรู้มิได้เกิดจากการสอนของครูอย่างเดียว แต่เกิดจากตัวของนักเรียนเอง
2. นักเรียนได้เรียนรู้จากการเชื่อมโยงความรู้เดิมกับประสบการณ์ใหม่
3. การเรียนอย่างต่อเนื่องจากการทำโครงงาน ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากรูปธรรมเป็นนามธรรมได้
4. การเรียนรู้เกิดจากการลงมือปฏิบัติของนักเรียนเอง โดยผ่านขั้นตอนการทำงานที่เป็นกระบวนการซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมมั่นให้กับตนเอง
5. เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เพราะการทำงานของนักเรียนต้องมีการติชม วิพากษ์วิจารณ์ และให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อการปรับปรุงแก้ไขที่ดีขึ้น
6. ความคาดหวังของนักเรียนที่มีต่อผลงาน เพราะในกระบวนการของการทำโครงงาน นักเรียนจะต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
7. นักเรียนได้พัฒนาความสามารถที่มองสะท้อนตัวเองได้ (Self-reflection) โดยฝึกการติดตามความคิด ตรวจสอบความคิด ติดตามงานและฝึกแก้ปัญหาจากผลของการติดตามงานนั้น ๆ

เอกสารอ้างอิง
ทิศนา แขมมณี. (2560). ศาสตร์การสอน องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่
        มีประสิทธิภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 21). โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บุญเลี้ยง ทุมทอง. (2548). แนวการออกแบบการจัดการเรียนรู้โครงงานคณิตศาสตร์.   
        ในประมวลองค์ความรู้และงานวิจัยหลักสูตรและการเรียนรู้. ฉันทนา กล่อมจิต, 
        ลัดดา ศิลาน้อย และพรชนิตว์ ลีนาราช. (บรรณาธิการ). ขอนแก่น: คณะศึกษาศาสตร์ 
        มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ปราชญ์ รัตนานันท์ (2553). คิดโครงงานสังคมศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: เป็น
        ภาษาและศิลปะ.
พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และคณะ. (2553). การสอนคิดด้วยโครงงาน การเรียนการสอนแบบ
        บูรณาการ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ลัดดา ศิลาน้อย และอังคณา ตุงคะสมิต. (2556). ยกระดับครูสังคมศึกษาสู่ประชาคม
        อาเซียน (ASEAN Community) ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่21
        ขอนแก่น: สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
วัฒนา มังคสมัน. (2551). การสอนแบบโครงการ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
        แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อังคณา ตุงคะสมิต. (2559). สังคมศึกษาในโลกอาเซียน Social studies in ASEAN 
        Communityขอนแก่น: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น.


การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning)

พิพัฒน์ คุณวงค์ (เรียบเรียง) 1. ความหมายของการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน         สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (25...